เล่นเกม"เตตริส" ช่วยรักษาอาการ"ตาขี้เกียจ"
วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2556
0
ความคิดเห็น
แพทย์ชาวแคนาดาเผยผลการศึกษาที่พบว่า การเล่นเกม"เตตริส"จะช่วยบริหารสายตาที่มีอาการที่เรียกว่า "ตาขี้เกียจ"ได้ดี
โดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมคกิล พบว่าเกมจัดเรียงตัวบล็อกให้เป็นแถวดังกล่าว จะช่วยทำให้ตาทั้งสองข้างสามารถทำงานได้พร้อมๆกัน
ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร "Current Biology" โดยใช้กลุ่มผู้ใหญ่ 18 คน พบว่าวิธีดังกล่าวได้ผลดีกว่าการรักษาด้วยการติดแผ่นแปะไว้ที่ตาข้างที่ดีกว่า เพื่อให้ตาที่ใช้น้อยกว่าได้ทำงานมากขึ้น
คาดการณ์กันว่า เด็กทุก 1 จาก 50 ราย มีอาการที่ทางการแพทย์เรียกว่า "ตาขี้เกียจ" (amblyopia) หรืออาการที่ทำให้ตาทั้งสองข้างไม่ได้ใช้มอง หรือใช้ตาข้างใดข้างหนึ่งมองน้อยกว่าอีกข้างในช่วงตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ขวบ ที่ทำให้ตาข้างที่ใช้น้อยกว่าเจริญไม่เต็มที่ และมัวกว่าตาอีกข้างไปตลอดชีวิต ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการผ่าตัด กินยา หยอดยา เลเซอร์ หรือวิธีการใด
การทดลองโดยใช้อาสาสมัคร 18 ราย โดย 9 รายที่มีอาการตาขี้เกียจ จะต้องสวมแว่นตาสำหรับเล่นเกมเตเตริส นาน 1 ชม.ต่อวัน ติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์ หลังสวมแว่นตาดังกล่าว จะมองเห็นแต่เพียงบล็อกที่กำลังค่อยๆตกลงมา ขณะที่อีกข้างจะเห็นแต่บล็อกที่วางต่อกันอยู่บนพื้น
ส่วนอาสาสมัครอีก 9 คนที่มีอาการตาขี้เกียจเช่นกัน จะต้องสวมแว่นตาเช่นกัน แต่ตาข้างที่ดีกว่าจะถูกปิดและมองภาพของทั้งเกมผ่านตาข้างที่อ่อนแอกว่า
หลังสิ้นสุดการทดลองนาน 2 สัปดาห์ กลุ่มที่ใช้ตาทั้งสองข้าง มีการพัฒนาการมองเห็นได้มากกว่ากลุ่มที่ปิดตาหนึ่งข้าง ต่อมานักวิจัยจึงให้กลุ่มที่ปิดตาหนึ่งข้างเปิดตาอีกข้าง ทำให้การพัฒนาการมองเห็นดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ดร.โรเบิร์ต เฮสส์ กล่าวว่า การรักษาด้วยวิธีนี้เป็นทางเลือกที่ดีกว่าการติดแผ่นแปะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ใหญ่ เนื่องจากผู้ใหญ่ไม่มีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์ใดๆจากวิธีเดิม อีกทั้งยังไม่จำเป็นต้องเป็นเกมเตตริส แต่เป็นเกมคอมพิวเตอร์ใดๆก็ได้ การที่ทำให้ตาสองข้างได้ทำงานพร้อมๆกัน จะทำให้การมองเห็นดีขึ้น
เขากล่าวว่า ผลการวิจัยครั้งนี้และอื่นๆก่อนหน้านี้ ชี้ให้เห็นว่า อาการตาขี้เกียจส่วนใหญ่เกิดจากตาทั้งสองข้าง และการที่ปิดตาข้างที่ดีกว่า อาจยิ่งทำให้อาการแย่ลงมากกว่าที่จะรักษาตาอีกข้าง นอกจากนั้น การบังคับให้ตาทั้งสองข้างทำงานร่วมกัน จะช่วยเพิ่มระดับของ"สภาพพลาสติก" หรือความสามารถในการปรับตัวในสมอง และทำให้ตาข้างที่อ่อนแอสามารถเรียนรู้ที่จะมองเห็นได้อีกครั้ง
ที่มา www.matichon.co.th